Spreadfirefox Affiliate Button

เป็นดังที่เข้าใจกันอย่างกว้างขวางว่า อินเทอร์เน็ต คือ อภิมหาเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งยังเป็นเครือข่ายสารพัดประโยชน์ จนใครที่ไม่เคยใช้งานอินเทอร์เน็ตอาจจะเป็นบุคคล ตกยุคสมัยไปได้ง่ายๆ

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้แต่ละปีการเติบโตของการใช้งาน เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้หมายเลขติดต่อบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ ไอพี แอดเดรส ที่เปรียบเสมือนหมายเลขโทรศัพท์ ที่ใช้ติดต่อสื่อสารกันกำลังจะหมดไปในอนาคต ดังนั้น หลายประเทศจึงเริ่มนำเอาเทคโนโลยีการติดต่อ บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตรุ่นที่ 6 หรือ IPv6 มาใช้ควบคู่กับเทคโนโลยีการติดต่อ บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตรุ่นที่ 4 หรือ IPv4

อย่างไรก็ตาม หลายคนที่ยังไม่รู้อาจจะสับสนว่า การเปลี่ยนไปใช้ IPv6 นั้น จำเป็นหรือไม่ แท้จริงแล้วผลกระทบเป็นเช่นไร และในประเทศไทยผู้เกี่ยวข้อง มีความพร้อมให้บริการมากน้อยแค่ไหนและอย่างไร ดังนั้น วันนี้ …เราจะพากันไปหาคำตอบเหล่านี้ กัน

รศ .ดร.สินชัย กมลภิวงศ์ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเครือข่าย ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหา วิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้คำตอบเกี่ยวกับความสำคัญ และ ความจำเป็นในการใช้งาน IPv6 ว่า IPv4 เริ่มเปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1981 รวมระยะเวลามากกว่า 26 ปี มีเลขหมายรองรับ 4.29 พันล้านเลขหมาย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเลขหมาย IPv4 ถูกใช้งานแล้ว 2.5 พันล้านเลขหมาย โดยคาดว่า จะหมดไปประมาณปี ค .ศ. 2010


"มีการแจกจ่าย IPv4 ไปแล้ว 2.5 พันล้านเลขหมาย 1.4 พันล้านเลขหมายอยู่ในอเมริกา 550 ล้านเลขหมายอยู่ในยุโรป 155 ล้านเลขหมายอยู่ในญี่ปุ่น 125 ล้านเลขหมายอยู่ในจีน 20 ล้านเลขหมายอยู่ในอเมริกาใต้และอีก 100 ล้านเลขหมายอยู่ในที่อื่นๆ ทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยมีการใช้งาน 3.47 ล้านเลขหมายจาก จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 13 ล้านราย" อาจารย์สถาบันวิจัยเทคโนโลยี เครือข่าย ม.สงขลานครินทร์ อัพเดทสถานะจำนวนเลขหมาย IPv4 ในปัจจุบัน

รศ. ดร.สินชัย เชื่อว่า จากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า IPv4 จะหมดในเร็วๆ นี้ โดยภายในปี ค.ศ.2050 มีข้อมูลว่า จะมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากถึง 9 พันล้านเลขหมาย ขณะที่ในปี ค.ศ.2006 ที่ผ่านมา มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั่วโลกแล้ว 2.03 พันล้านเครื่อง และมีแนวโน้มว่า จะมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่าน โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ

"ปัจจุบันและอนาคตจะมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ด้วยแท็ปเลตพีซีและพีดีเอ เป็นต้น ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ เช่น 3 จี ไวไฟ และไวร์แม็ก เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะส่งผลให้ IPv4 ที่เหลือจำนวนจำกัดอาจ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้น ช่วงนี้หลาย ๆ ประเทศจึงเตรียมพร้อม และให้ความรู้การใช้งาน IPv6 ที่มีเลขหมายไว้รองรับมากถึง 340 ล้านล้านล้านล้านเลขหมาย โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีกระทรวงไอซีทีได้นำเทคโนโลยีดังกล่าว มาเผยแพร่ให้กับประชาชน"

สำหรับผลดีของการนำ IPv6 มาใช้ อาจารย์สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเครือข่าย ม.สงขลานครินทร์ ชี้ให้เห็นว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เปลี่ยน เพราะว่า ในที่สุดเราจะไม่มีเลขหมาย IPv4 ให้ใช้งาน รวมทั้งยากลำบากในการเชื่อมต่อ กับประเทศอื่นและอุตสาหกรรมไอซีที คงยากลำบาก นอกจากนั้น ยังจะทำให้อุปกรณ์คอนซูมเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์ หรือ ซีอี สามารถเพื่อให้สามารถเชื่อต่อ และ ใช้งานร่วมกันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตด้วยเลขหมาย IPv6

และมาถึงทุกวันนี้ รศ .ดร.สินชัย อัพเดทแผนงานและสถานการณ์การใช้งาน IPv6 ในประเทศอื่นๆ ว่า ปัจจุบันอเมริกาได้ประกาศใช้ IPv6 ตั้งแต่ปี ค.ศ 2005 แม้จะได้รับการจัดสรรเลขหมาย IPv4 มากที่สุด ส่วนประเทศในแถบเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตอยู่ในอันดับต้นๆ นั้น ได้เตรียมให้หน่วยงานราชการใช้งาน IPv6 อย่างเป็นทางการภายในปี ค.ศ.2008 ส่วนเกาหลีจะใช้การเชื่อมต่อซีอี IPv6 ในปี ค.ศ.2010 โดยปี ค.ศ.2008 จะเปิดให้บริการ IPv6 ในเชิงพาณิชย์

ในส่วนของเมืองไทย ดร.อาจิน จิรชีพพัฒนา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริม และ พัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที เปิดเผยว่า กระทรวงไอซีทีได้เตรียมความพร้อม เกี่ยวกับการใช้งาน IPv6 เอาไว้แล้ว โดยได้กำหนดแผนไว้ 3 ระยะ ได้แก่ แผนระยะสั้นระหว่าง แผนระยะกลางและแผนระยะยาว เพื่อให้การดำเนินงาน ของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเกิดความชัดเจน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการไอซีที กระทรวงไอซีที เปิดเผยแผนการใช้งาน IPv6 ในประเทศไทยว่า ระยะสั้นระหว่างปี พ.ศ. 2550-2551 จะจัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญ IPv6 ที่มีหน้าที่ออกใบรับรอง IPv6 รวมทั้งจัดฝึกอบรมและออกใบ รับรอง ระยะกลางปี พ.ศ.2550-2552 จัดตั้งเครือข่ายภาครัฐ ให้เป็นโครงข่ายหลักที่สามารถรองรับการใช้งาน และในระยะยาว ปี พ.ศ.2550-2553 กำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ ไอเอสพีสามารถให้ IPv6 แก่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

ทางด้าน ดร.เฉลิมพล ชาญศรีภิญโญ นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค และสมาชิกสมาคม IPv6 ประเทศไทย ให้ข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบันการใช้งาน และให้บริการ IPv6 ในประเทศไทยว่า ส่วนใหญ่ยังใช้ในเครือข่ายด้านการศึกษาวิจัย และใช้เฉพาะกลุ่ม สำหรับในส่วนของไอเอสพีนั้น หลายรายได้มีการทดสอบการใช้และให้บริการ แต่ยังไม่มีการเปิดให้บริการจริง

"นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งสมาคม IPv6 ขึ้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน ให้มีการใช้งานและให้บริการ รวมทั้งมีการจัดทำนโยบาย โดยกระทรวงไอซีที ตลอดจนมีการจัดทำแนวทาง และมาตรการกำกับการใช้งานโดย กทช. ส่วนสาเหตุของการใช้งานและให้บริการที่ยังไม่แพร่หลายนั้น เป็นเพราะยังไม่มีคอลเลอร์แอพลิเคชัน ขาดแรงจูงใจในการใช้และให้บริการ รวม ทั้งขาดการผลักดันและสนับสนุนอย่างจริงจัง " นักวิจัยจากเนคเทค ให้ข้อมูลเพิ่มเติม

จากความเห็นของนักวิชาการข้างต้น คงพอจะทำให้สรุปได้ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยและอีกหลายๆ ประเทศในโลกคงจะต้องเปลี่ยนไปใช้ IPv6 เพื่อทดแทน IPv4 ที่กำลังจะหมดไปในอนาคต อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่าง อาจจะมีปัญหาติดขัดในตอนเริ่มต้นบ้างเป็นธรรม ดังนั้น การเตรียมความพร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้สามารถก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และก้าวทันกับยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่กำลังแข่งขันกันอย่างเข้มข้นในโลกปัจจุบัน …


ณัฐพล ทองใบใหญ่
itdigest@thairath.co.th


บทความจาก :
ไทยรัฐ
วันที่ : 5 พฤศจิกายน 2550



Powered by ScribeFire.

เขียนโดย Şiłąncē Mőbiuş วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

0 ความคิดเห็น

โลกนี้ไม่ได้มีแต่ Microsoft และ Windows นะจะบอกให้

Subscribe here

เวลา ไม่เคยคอยใคร